วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2555

ผลกระทบจาการกระทำของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อม


 มนุษย์มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา ดังนั้นการกระทำของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ ดังนี้
            1.  มลพิษทางอากาศ  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อากาศเป็นพิษ  หมายถึง สภาพอากาศที่มีสารอื่นเจือปน
มาก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อชีวิตคน สัตว์  พืชและสภาวะแวดล้อมอื่นๆ สารเหล่านี้ ได้แก่ เขม่า ควัน ฝุ่นละออง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งสารเหล่านี้ถ้าสะสมมากๆ จะทำให้เกิดเป็นโรคผิวหนัง มะเร็ง หรือเกิดอาการเวียนศีรษะแหล่งที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ได้แก่ การคมนาคม การเผาขยะ การก่อสร้าง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดฝุ่นและควันเข้าสู่อากาศที่เราหายใจเข้าไป
            2.  มลพิษทางน้ำ  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า น้ำเสีย สิ่งที่ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำนั้นเกิดจากการที่มีการทิ้งของเสียลงในแม่น้ำลำคลอง ทั้งที่มาจากโรงงานอุตสาหกรรม สถานบริการ การประกอบอาชีพต่างๆ หรือจากอาคารบ้านเรือน นอกจากนี้ยังมีการทิ้งขยะมูลฝอยลงในแหล่งน้ำ หรือลงในแม่น้ำลำคลอง ทำให้เกิดน้ำเสียเป็นแหล่งเพาะและแพร่เชื้อโรคทำลายสุขภาพ น้ำมีกลิ่นเหม็น สัตว์น้ำเสียชีวิต และทำลายความสวยงามและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
            3.  มลภาวะทางดิน  หมายถึง การที่ดินเกิดความเสียหายจากการกระทำของมนุษย์เองส่วนใหญ่มักจะเป็นกิจกรรมทางการเกษตร ได้แก่การใช้ยาฆ่าแมลง การใช้ปุ๋ยเคมี หรือการปลูกพืชโดยไม่มีการบำรุงรักษาดิน นอกจากนี้ยังมีสาเหตุมาจากน้ำเสีย หรือการทิ้งฝังขยะมูลฝอย   
            4.  มลภาวะทางเสียง  เป็นลักษณะของเสียงที่ดังมากจนเกินไป ทำให้เกิดความรำคาญหรือบางทีอาจเป็นอันตรายต่อหู เสียงเหล่านี้เกิดจากยานพาหนะ เสียงเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรม
                                                             

ปัญหาสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น
             ปัญหาสิ่งแวดล้อม หมายถึง สภาพของสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมซึ่งก่อให้เกิดผลทางลบกระทบต่อคนเรา ทำให้การดำเนินชีวิตของเราผิดปกติไปปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มักพบบ่อยๆ  ในท้องถิ่น คือ
            1.  น้ำเสีย  เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัวเรามาก และมักพบได้ในท้องถิ่นที่เป็นชุมชนใหญ่ หรือมีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ สภาพของน้ำเสียหมายถึง สภาพน้ำที่มีระดับออกซิเจนละลายอยู่ในน้ำน้อย มีสัดส่วนของแบคทีเรียมาก บางครั้งจะมีสารพิษเจือปนอยู่ มีสภาพกลิ่นเหม็น สีดำ มีขยะลอย ไม่สามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้น้ำเสียเกิดจากการปล่อยน้ำทิ้งของโรงงานอุตสาหกรรม น้ำเสียจากครัวเรือน หรือจากการทำการเกษตร ที่ไม่ผ่านระบบกำจัดน้ำเสียให้เป็นน้ำดีก่อนปล่อยลงไปสู่แหล่งน้ำต่างๆ ทำให้น้ำในแหล่งน้ำต่างๆ
     
            2.  ปัญหาน้ำท่วม  เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พบอยู่ตามท้องถิ่นที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่ม อยู่ใกล้แม่น้ำ หรืออยู่ชายฝั่งทะเลซึ่งบริเวณพื้นที่เหล่านี้มักจะมีระบบระบายน้ำไม่ดี เมื่อเวลาฝนตกหนักน้ำไหลบ่าก็จะทำให้เกิดมีน้ำท่วมขัง ซึ่งจะก่อความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินต่างๆ  ถ้าเป็นแหล่งที่มีการเกษตรกรรมจะทำให้พืชผลเสียหายในขณะที่มีน้ำท่วมขังอยู่ แต่เมื่อหลังน้ำลดแล้วมักจะเกิดโรคต่างๆ  เกิดขึ้นตามมา สาเหตุของการเกิดน้ำท่วมมักมีหลายสาเหตุ คือ การตัดไม้ทำลายป่าบริเวณต้นน้ำลำธาร ทำให้การดูดซับหรือการชะลอน้ำทำได้น้อย การสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ เช่น ถนน ขวางเส้นทางของน้ำ ถ้าในบริเวณชายฝั่งทะเลก็จะเกิดจากการหนุนของน้ำทะเล หรืออาจเกิดจากฝนที่ตกหนักจนระบายน้ำไม่ทัน
            3.  ปัญหาภัยแล้ง  เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมมักพบในท้องถิ่นที่อยู่นอกตัวเมืองหรือชนบทที่ต้องอาศัยน้ำจากฝนที่ตกลงมาอุปโภคบริโภคเป็นหลัก ไม่มีระบบน้ำประปา สภาพภัยแล้งเกิดจากความชุ่มชื้นในอากาศมีน้อยและในดินมีน้ำน้อยเนื่องจากฝนไม่ตกหรือทิ้งช่วงเป็นเวลานาน จะเป็นเหตุให้มีระดับน้ำตามแหล่งน้ำที่ผิวดินที่เป็นแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงมีน้ำน้อย ไม่พอพียงแก่การนำมาใช้ในการอุปโภคบริโภค หรือทำการเกษตร
      

            4.  ปัญหาดินถล่ม  เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มักพบอยู่ในท้องถิ่นที่ตั้งอยู่ตามเชิงเขา ดินถล่มหรือโคลนถล่มมักเกิดขึ้นในช่วงที่มีฝนตกหนัก ที่น้ำจากภูเขาไหลบ่าพัดเอาดินเอาโคลนมากองรวมกันไว้มากๆ และเมื่อถึงระดับหนึ่งซึ่งบริเวณที่รองรับทนน้ำหนักไม่ไหว เกิดการถล่มลงมาของกองดินหรือโคลน ซึ่งถ้าในบริเวณนั้นมีการตั้งบ้านเรือนอยู่ ก็จะเกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน หรือบางครั้งเกิดจากการตัดต้นไม้บนพื้นที่ภูเขาและไหล่เขา เมื่อเกิดฝนตกหนักไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่จะยึดดินไว้ทำให้เกิดดินถล่ม
            5. ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าและไฟป่า  เป็นปัญหาที่พบในท้องถิ่นต่างๆ ส่วนใหญ่มักจะเป็นปัญหาต่อเนื่องมาจากอดีต แต่ในปัจจุบันนี้ก็มักจะมีการลักลอบทำลายป่าไม้อยู่เนืองๆ  นอกจากนี้ไฟป่าก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พื้นที่ป่าลดลงและทำลายความสมดุลของธรรมชาติ และการตัดไม้ทำลายป่าทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลงก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ  ตามมา เช่น ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาดินโคลนถล่ม ปัญหาภัยแล้ง ปัญหาแหล่งน้ำตื้นเขิน เป็นต้น
            6.  ปัญหาขยะมูลฝอย เป็นปัญหาที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ   เนื่องมาจากการเพิ่มของจำนวนประชากร เพราะผลของการวิจัยพบว่า ประชากร 1 คน ทำให้เกิดขยะเฉลี่ย 1 กิโลกรัมต่อวัน ถ้าท้องถิ่นใดมีประชากรมากก็จะทำให้มีปริมาณขยะมาก ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่นับปริมาณขยะที่เกิดจากกิจกรรมอื่นๆ  เช่น การอุตสาหกรรม  การเกษตร  การกำจัดขยะ ถ้าเป็นในเมืองหรือชุมชนขนาดใหญ่จะมีเจ้าหน้าที่จัดเก็บ แต่ถ้าเป็นชุมชนขนาดเล็กหรือในชนบทมักจะมีการกำจัดขยะกันเองในครัวเรือน ขยะเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรค มีกลิ่นเหม็น ไม่น่ามอง ซึ่งการกำจัดขยะมักจะใช้วิธีการฝังกลบ หรือการเผาเป็นส่วนใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น